กรมลดโลกร้อน จัดพิธีมอบเกียรติบัตรโครงการแลกเปลี่ยนศูนย์เรียนรู้โรงเรียนรู้อีโคสคูล... เสริมแรง สานสัมพันธ์ ต่อยอดการพัฒนางาน ผสานความร่วมมือ สปป.ลาว - ไทย
นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤต หรือภาวะโลกเดือด ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง และต่อเนื่องยาวนานมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการหรือจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ทั้งในมิติของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และมิติของการปรับตัว ซึ่งจะช่วยลด บรรเทา และชะลอผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้ โครงการโรงเรียนอีโคสคูล เป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา
ซึ่งเป็นกลไกการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมแบบเชิงรุกในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่นำไปสู่สังคมโรงเรียนคาร์บอนต่ำ ผ่านกิจกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยได้ฝากผู้แทนจากสปป.ลาว ถึงการขยายผลจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้สู่โรงเรียนในสปป.ลาว ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน ยินดีที่จะให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน และติดตามสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนปรารถนา และโรงเรียนฮุ่งเฮืองอย่างเต็มที่ และยินดีร่วมมือกับกรมสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
สำหรับประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่ได้รับ พัฒนาต่อยอดงานศูนย์เรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลระดับอาเซียนในอนาคต
นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการในครั้งนี้ว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนศูนย์เรียนรู้อีโคสคูล ระดับอาเซียน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ในระหว่างวันที่ 25 – 28 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูลที่ได้รับรางวัล ASEAN Eco-school Award และสร้างโอกาสแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลจากโรงเรียนต้นแบบของสปป.ลาว และไทย ทั้งมิติของการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการ มิติของครูผู้สอนในการจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา และมิติของผู้เรียนในรูปแบบแห่งการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการถ่ายทอดประสบการณ์ ศึกษาดูงานการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา 7 Steps ของโรงเรียนอีโคสคูลประเทศไทย การนำเสนอพร้อมอภิปรายแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานอีโคสคูลของทั้งสองประเทศ และการศึกษาดูงานตามแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ในการดำเนินโครงการได้
โดยในครั้งนี้มีผู้แทนจากกรมสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ผู้บริหาร ครูและนักเรียนจากโรงเรียนปรารถนา และโรงเรียนฮุ่งเฮือง สปป.ลาว รวมถึงผู้บริหาร ครูและนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 50 คน โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอันดียิ่งจากเทศบาลเมืองหัวหินตลอดช่วงเวลาการดำเนินโครงการ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น