รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทิศทางการศึกษาในปี 2568 มีหลายเรื่องที่น่าท้าทาย ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งอาจารย์ และหลักสูตร โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงานตามแนวทางของ Global Citizen และ Digital Technology เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และบูรณาการการทำงานได้ทุกคณะ และวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นวิทยาเขต ส่วนน้อง ๆ ที่กำลังวางแผนที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่สถาบัน เมื่อจบออกไป ต้องมีความมั่นใจและมีความเป็นมืออาชีพในสาขานั้น ๆ รวมทั้งมีองค์ความรู้ติดตัว ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน สามารถที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และในฐานะที่ สจล. เป็นผู้นำการศึกษาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย จึงเตรียมพร้อมเปิดอีก 2 คณะในช่วงต้นปี 2568 ประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovative Technology) เพื่อตอบโจทย์ภาคสังคม รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขับเคลื่อนภาคการศึกษาให้ก้าวทันเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุหงา ตโนภาส รักษาการแทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สจล. กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นคณะใหม่ของ สจล. ซึ่งในปีการศึกษา 2568 จะเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบหลักสูตรและการตรวจรับรองสถาบันการศึกษาพยาบาลจากสภาการพยาบาล โดยที่เราจะผลักดันนักศึกษาสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งมีคุณลักษณะของบัณฑิตที่เป็น Global citizen ทั้งนี้ยังความมุ่งมั่นที่จะสร้างพยาบาลนวัตกรที่มีความเป็นพยาบาลยุคใหม่ มีความใส่ใจเอื้ออาทร หากผู้ปกครอง หรือนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์สามารถเข้าร่วมกิจกรรม Open House กับทางสถาบัน เรียนรู้เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ ของการเป็นนักศึกษาพยาบาล สจล. ที่จะเติบโตพร้อมเป็นพยาบาลนวัตกร ร่วมสร้าง Wellness Society ไปด้วยกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovative Technology) หรือ SiiTec เป็นคณะใหม่ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของการผลิต และวัสดุศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน อุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาล ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ด้านพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมการผลิต นาโนเทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์ มาออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาสามารถจบการศึกษาออกไปทำงานได้ทันที ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นและส่งเสริมงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งมีทิศทางของการเติบโตที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท คาดว่าสามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้ประมาณ 60-100 คน ปัจจุบันเปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุนาโน, หลักสูตร Smart Materials Technology (Multidisciplinary)(International Program), หลักสูตร 2 ปริญญา B.Eng. (Smart Materials Technology) และ B.Eng. (Robotics and AI Engineering), หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบการผลิต และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบการผลิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น