พช. เผยผลสำเร็จการดำเนินงานตลอดปี 2566 ยกระดับการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนด้วย BIG DATA เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากด้วยธรรมาภิบาลควบคู่เทคโนโลยี ส่งต่อกระบวนงานด้วยการจัดการความรู้ที่ได้มาตรฐานสากล
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการจัดกิจกรรม พช. พบสื่อมวลชน พร้อมแถลงผลการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชนประจำปีงบประมาณ 2566 โดยการแถลงความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ “วันพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 12 ปี 2566” หรืองานนิทรรศการแสดงผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 6 กันยายน ณ ลาน อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
นายอรรษิษฐ์ เผยว่า “ตลอด 60 ปี ที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ถือเป็นหน่วยยุทธศาสตร์ภาครัฐในการพัฒนาชนบท ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านแผนปฏิบัติราชการ 4 เรื่อง ทั้งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถบริหารจัดการและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน การส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง การสร้างความร่วมมือและส่งเสริมบทบาทเครือข่ายการพัฒนาชุมชนทั้งในและต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีสมรรถนะสูง ควบคู่หลักธรรมาภิบาลที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีพัฒนากรทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ มีความสามารถในการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เปรียบประดุจญาติผู้ใกล้ชิดที่รับรู้ปัญหาความต้องการและร่วมแก้ไขความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นนอกจากนั้น กรมการพัฒนาชุมชนยังได้นำแนวคิดของการพัฒนาระบบราชการ 4.0 มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยมีการสร้างนวัตกรรมและปรับเข้าสู่การเป็นดิจิทัล เพื่อการพัฒนาแบบรอบด้าน ได้แก่ 1. Open & Connected Government: การเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใสในการทำงาน พร้อมเปิดกว้างด้วยกลไกการมีส่วนร่วม และการบูรณาการสานพลังทุกภาคส่วนร่วมกับ 7 ภาคีการพัฒนา ประกอบด้วย ภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน 2. Citizen-Centric Government การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการ อำนวยความสะดวก อาทิ การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสัมมาชีพชุมชน ชับเคลื่อนตำบลสู่ความเข้มแข็ง มีแหล่งทุนชุมชนหนุนเสริมอาชีพ พัฒนาระบบ E-Service ระบบลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการOTOP ออนไลน์ และการยกระดับการตลาดออนไลน์ หรือ E-Commerce และ 3. Smart & High Performance Government โดยกรมการพัฒนาชุมยังได้พัฒนาระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีการพัฒนาทั้งโปรแกรม แพลตฟอร์ม และฐานข้อมูลต่างๆ อาทิ การประเมินผลการปฏิบัติราชการผ่านระบบออนไลน์ การกำกับ ติดตามการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม ด้วยโปรแกรม BPM แพลตฟอร์มสารสนเทศเพื่องานบริการ “Click ชุมชน” แพลตฟอร์มสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ “CDD EIS พกพา” ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชนขนาดใหญ่CDD BIGDATA โปรแกรมจัดเก็บบันทึกและประมวลผล จปฐ.ออนไลน์ : SMART BMN เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกรมฯยังได้มีการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล DATA CATALOG เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ให้กับหน่วยงานยังไม่มีบัญชีข้อมูลนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาต่อไป
และจากการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมาได้ส่งผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ โดยมีผลสะท้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของการทำงานพัฒนาชุมชน ได้แก่ทำ 1 ได้ 3 ประกอบด้วย 1. ได้ความมั่นคง มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงกว่า 42,932 หมู่บ้าน มีกองทุนแม่ของแผ่นดินกว่า 22,574 กองทุน ครัวเรือนยากจนเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือและดูแลกว่า 717,879ครัวเรือน ประชาชนกว่า 14.5 ล้านครัวเรือน มีความมั่นคงทางอาหาร สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย เฉลี่ยครัวเรือนละ 20 บาทต่อวัน คิดเป็นเงินกว่า 105,850 ล้านบาทต่อปี และส่งเสริมการปลูกผักและสมุนไพรทุกครัวเรือนกว่า 30 ชนิด 2. ได้ความมั่งคั่ง ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 84,498.94 บาทต่อคนต่อปี มีเงินทุนชุมชนหนุนเสริมอาชีพกว่า 63,401,358,320 บาท กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีเงินทุนหนุนเสริมอาชีพสตรีกว่า 19,468,122,821 บาท ประชาชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP เพิ่มขึ้นกว่า 209,946 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจผ้าไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 45,411,531,610 บาท 3. ได้ความยั่งยืน มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนกว่า 91,000 ศูนย์จำนวนผู้นำชุมชน 89,371 คน จำนวนกลุ่ม/องค์กร 154,415 กลุ่ม จำนวนเครือข่าย 2,129 เครือข่าย ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน 954 แห่ง ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา 39,879 ศูนย์ ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน 1,245 แห่ง ตำบลเข้มแข็ง 953 ตำบล โรงเรียน OTOP 7 แห่ง โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 8 แห่ง
ซึ่งผลสำเร็จทั้งมวล ส่งผลให้กรมการพัฒนาชุมชนได้รับ รางวัลเลิศรัฐปี 66 โดยสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐได้ 3 รางวัล ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในการพัฒนาองค์กรสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ประกอบด้วย รางวัลสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) จำนวน 1 รางวัล และสาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ การบริหารจัดการหนี้ภาคครัวเรือนโดยชุมชนป่าเพิ่ม โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด และผลงาน บ้านถ้ำเสือ หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ และด้วยความตั้งใจของบุคลากรในองค์กร เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ ทั้งในด้านนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะการได้รับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยผลงานการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริการจัดการภายในองค์กร การดำเนินการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง...ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนยังได้ มาตรฐาน ISO 27001 : 2013 ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เป็นสิ่งชี้วัดว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงและคุ้มครองข้อมูลอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความพร้อมใช้งานของข้อมูลต่างๆ ที่จะสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ และอีกรางวัลที่เป็นภาคภูมิใจของชาวกรมการพัฒนาชุมชน และกระทรวงมหาดไทย คือได้รับ มาตรฐาน ISO 30401: 2018 ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานเดียวในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเครื่องหมายชี้วัดว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มียกระดับงานด้านการจัดการความรู้สู่มาตรฐานระดับสากล โดยคัดเลือกศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี เป็นหน่วยงานนำร่องพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของหน่วยงาน”
“สำหรับการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งหวังการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านกระบวนงานสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การยกระดับงานให้ดียิ่งขึ้น (Enhancing Communities’ Work) กล่าวคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชน ให้ดีขึ้น โดยจะมีการสร้างมาตรฐานเกณฑ์การชี้วัดที่ชัดเจน มีระบบการติดตามที่เหมาะสม และมีระบบการสร้างแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรม ด้วยวิธีการนำนโยบายของรัฐบาลแปลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ/กิจกรรม อาทิ 1 ครัวเรือน 1 Soft Power (One Household One Soft Power : OHOS) ต่อยอดการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม การพัฒนาระบบการบริหารจัดการชุมชนที่มีมาตรฐาน เสริมสร้างความภาคภูมิใจของผู้นำเครือข่าย กลุ่ม/องค์กรชุมชน และสร้างครัวเรือน/ชุมชน ปลอดยาเสพติด การเสริมสร้างทุนชุมชนธรรมาภิบาล ส่งเสริมการใช้ทุนชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการจัดสวัสดิการชุมชน ทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถปลดหนี้ได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สู่สากล รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการชุมชน ให้มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ 2) การเสริมประสานภาคีเครือข่ายอย่างมีคุณภาพ (Nurturing Partnership Network) กล่าวคือ การพัฒนา รักษา และยกระดับงานพัฒนาชุมชนโดยการใช้กลไกและเครือข่ายพัฒนาชุมชนที่มีคุณภาพ นั่นคือ การสร้างการมีส่วนร่วมใน 3 ระดับ (ระดับประเทศ, จังหวัด, ชุมชน) การเชื่อมประสาน 5 กลไก (การประสานงานภาคีเครือข่าย, การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์, การติดตามและประเมินผล, การจัดการองค์ความรู้ และ การสื่อสารสังคม) และการปฏิบัติงานร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย (ภาครัฐ, ภาควิชาการ, ภาคศาสนา, ภาคประชาชน, ภาคเอกชน, ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน) ในการขับเคลื่อนงาน การพัฒนา ต่อยอดโครงการและงาน ในพระราชดำริ การขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) : สร้างคน สร้างเครือข่าย เชื่อมตลาดทั้งในและต่างประเทศ บนฐานนวัตกรรม การท่องเที่ยวแก้จน : ปั้นชุมชน สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ อย่างมืออาชีพ การเสริมประสานผู้นำและภาคีเครือข่าย สู่การขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน / เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ CD ConNEXT : เชื่อมต่องานพัฒนาชุมชนกับหน่วยงานภายนอกและต่างประเทศ สร้างต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (Best Practice & Best of the Best) 3) การขยายผลความสำเร็จสู่สังคม (Unleashing CDD’s Potential) โดยการสร้างระบบงานพัฒนาชุมชนที่เป็นเลิศ ผ่านการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูล Big Data เพื่อขับเคลื่อนภารกิจ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ในทุกมิติ การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและเส้นทางความก้าวหน้า ของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน การสร้างภาพลักษณ์และสื่อสารสังคมเชิงรุก การส่งเสริมการปฏิบัติตนของข้าราชการที่ดี ตามกฎหมาย ระเบียบ วินัย ที่เกี่ยวข้อง การเสนอขอรับรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ การพัฒนาองค์กรตามโครงการพัฒนาชุมชนใสสะอาด และองค์กรคุณธรรม”
นอกจากนี้ ทางกรมการพัฒนาชุมชนยังได้มีงบประมาณในการสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนหรือ Young OTOP ที่มีความสนใจต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของรุ่นพ่อแม่ เพื่อสานต่อให้ภูมิปัญญาเหล่านั้นสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง นำพาให้ลูกหลานกลับมาสร้างอาชีพ ณ บ้านเกิด ก่อให้เกิดความอบอุ่นที่มาพร้อมคุณภาพชีวิตในแต่ละครัวเรือน ซึ่งเร็วๆนี้ เราจะมีการจัดมหกรรมสินค้า OTOP ครั้งใหญ่อีกครั้งในงาน OTOP Midyear 2023 โดยจะจัดระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะมีชาวบ้านตลอดจนผู้ประกอบการชุมชนจากทั่วประเทศมาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า จึงอยากขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมเลือกชมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนภายในงานเพื่อช่วยกันสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของเราให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายอรรษิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น