“พาณิชย์” ชูคราฟต์ไทยเป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 2 พันล้านบาท เปิดตัว “บัวขาว บัญชาเมฆ”กับ“กางเกงมวยผ้าไหมไทย” ครั้งแรกของโลก ในงาน “Andaman Craft Festival” มี.ค.นี้ ที่ภูเก็ต
ไฮไลท์คือการเปิดตัว “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” ครั้งแรกในโลก ผลิตจากผ้าไหมของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผสมผสานการปักสะดึงกรึงไหม ที่มีมาแต่โบราณ ในเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ชั้นสูง ด้วยกระบวนการที่ละเอียดและซับซ้อน เช่น การปักหนุน การปักเดินเส้นการปักทึบ การปักซอย โดยใช้ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ถือเป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ฝีมือของครูปิโยรส บัวเหลือง ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2565 ของ sacit สร้างสรรค์เป็นกางเกงมวยที่งดงามวิจิตรบรรจงและมีตัวเดียวในโลก พร้อมกันนี้ยังได้ทดสอบตลาดผ่านสินค้า “กางเกงมวยไทย...ผ้าทอไทย” ซึ่งผลิตจากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนผ้าทออู่ทอง และผ้าขาวม้าทอมือจากชุมชนผ้าทอเมืองเหน่อ จ.สุพรรณบุรี
ภายใต้การนำของ ครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 ของ sacit ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นหัตถกรรมไทย ซึ่งเชื่อมโยงทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการสร้างให้เกิดวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มคน รุ่นใหม่ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย และสามารถสร้างการรับรู้ไปยังสาธารณชนได้เป็นจำนวนมากภายในงานพบกับ “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักชกแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยและเป็นที่รู้จักในระดับโลก ที่มาสร้างพลัง “Craft Power” ให้กับวงการงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ประจักษ์ / ภาคภูมิใจไปกับแฟชั่นโชว์ผ้าไทยร่วมสมัยสุดอลังการ สะท้อนความสวยงามของผ้าไทยในดีไซน์ที่ทันสมัย และเชื่อมโยงศิลปหัตถกรรมไทยกับแฟชั่น ให้เป็นแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน เพราะชุดที่นำมาจะใช้เนื้อผ้าที่ทอมาจากธรรมชาติ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากนางแบบนายแบบนำโดย “แอนนา เสืองามเอี่ยม” Miss Universe Thailand 2022 ที่เคยสร้างความประทับใจบนเวที Miss Universe มาแล้ว ในครั้งนี้จะมาสะบัดลวดลายขึ้นเวทีอีกครั้งด้วยความสง่างามของผ้าไทย / ร่วมชื่นชมพลังของคนตัวเล็ก น้องกานพลู ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา ตังตึงเด็กภูเก็ตที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยกล่าวสุนทรพจน์ขึ้นบนเวทีระดับโลกมาแล้ว จะมานำเสนอมุมมอง “พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกดิจิทัล” / ตื่นตาตื่นใจ ไปกับขบวนพาเหรดผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น นำโดย “ไฮดี้ อมันดา” Miss Grand จังหวัดภูเก็ต และน้องๆ สาวใต้ตาคมจากสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่จะมาสร้างสีสันให้ถนนคนเดินภูเก็ตสนุกสนานและเปี่ยมด้วยพลังงานคราฟต์ไทย /เพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้งงานศิลปหัตถกรรมไทยและงานหัตถกรรมพื้นถิ่นจากผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยกว่า 30 ร้าน ร่วมพิสูจน์ความสามารถด้านงานคราฟต์ใน Workshop DIY งานทำมือเก๋ๆ ร่วมสนุกทดลองทำทดลองชิมกับเมนูอาหารไทย ซึ่งถือว่าเป็นเมนูอาหารซอฟท์พาวเวอร์ ยอดฮิตติดอันดับโลก ได้แก่ ผัดไทย-ส้มตำ-ขนมครก-ชาเย็น รวมทั้งลองเล่นการละเล่นแบบไทยที่ต้องหลงรัก ทั้งมวยไทยไชยา และการเดินกะลา เตรียมอัพรูปลงโซเชียลก่อนใครกับจุด Check in โดนใจวัยใสด้วยมุมถ่ายภาพ Craft Photo ใน Theme ชิโนโปรตุกีส , สีสันของมลายูว่าวเบอร์อามัส , กางจ้องแดงมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา, โดมผ้าบาติก คัลเลอร์ฟูล โดยช่างภาพมืออาชีพพร้อม Prop สวยๆอีกเพียบ ร่วมให้กำลังใจ วง มอซอ วงดนตรีเยาวชนภูเก็ตที่เคยกวาดรางวัลบนเวทีการประกวดดนตรีระดับประเทศมาแล้ว / พลาดไม่ได้กับคอนเสิร์ตจากทัพศิลปิน ชื่อดัง คนรุ่นใหม่ อาทิ วง MEAN , SPRITE , วง BAMM , เบล วริศรา และ วาดฟ้า ไชยทัพ
ด้าน ครูปิโยรส บัวเหลือง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2565 ของ sacit กล่าวว่างานปักสะดึงกรึงไหมที่สร้างสรรค์ลงบนกางเกงมวยผ้าไหมไทยนั้น เป็นงานที่มีมาแต่โบราณ งดงามและมีคุณค่ายิ่ง เป็นงานที่ใช้ ในนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ส่วนใหญ่จะพบได้ในงานปักชุดโขน หรืองานปักสไบแบบโบราณ ซึ่งเทคนิคการปักสะดึงกรึงไหมแบบดั้งเดิมนั้น เป็นงานที่ละเอียดทุกขั้นตอน ต้องมีความอดทน และฝึกฝนจึงจะมีความชำนาญ การที่ครูได้รับเกียรติจาก sacit ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงาน “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” ในครั้งนี้ นับเป็นความท้าท้ายและแปลกใหม่อย่างยิ่ง รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันศิลปหัตถกรรมของไทยให้เป็น Soft Power เกิดการรับรู้และประทับใจแก่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อมั่นว่างาน “Andaman Craft Festival” จะสร้างสีสันและส่งเสริมบรรยากาศของการท่องเที่ยวให้น่าประทับใจยิ่งขึ้น และเป็นอีกงานที่นักท่องเที่ยว จะปักหมุดเพื่อมาท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อมาเยือน ที่สำคัญนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นภูเก็ตและในกลุ่มจังหวัดอันดามัน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยคาดว่าในปี 2566 นี้จะสามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในตลาดสินค้าของขวัญของที่ระลึกในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้เกิดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท
ขอเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัสพลังของงานหัตถกรรมไทยที่จะสร้างความสุขและรอยยิ้มที่งาน “Andaman Craft Festival” ในวันที่ 12 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ลานมังกร ถนนคนเดิน จังหวัดภูเก็ต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น