“อนุทิน” ชูนวัตกรรมหยุดภัย “ไข้เลือดออก” ส่งมอบชุดตรวจเร็วให้ 13 เขตสุขภาพ ค้นหาผู้ป่วย ควบคุมการระบาดได้เร็ว
วันนี้ (15 มิถุนายน 2565) ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมก้าวไกล ร่วมหยุดภัยไข้เลือดออก” (ASEAN’s Resilience Against Dengue Amidst COVID-19 Pandemic: Harness Innovation to Stop Dengue) พร้อมมอบชุดอุปกรณ์กำจัดยุงให้พื้นที่ 13 เขตสุขภาพ และร่วมกับ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดี
กรมควบคุมโรค และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมประกาศเดินหน้าต้านภัยไข้เลือดออก สร้างการรับรู้และรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในอนาคต
นายอนุทิน กล่าวว่า “วันไข้เลือดออกอาเซียนตรงกับวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี โดยโรคไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและอาเซียน เนื่องจากเป็นโรคประจำถิ่นของภูมิภาค ซึ่งการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและสถานที่ต่างๆ ในการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค สำหรับวันไข้เลือดออกอาเซียนในปี 2565 มีแนวคิดเรื่องนวัตกรรมก้าวไกล ร่วมหยุดภัยไข้เลือดออก โดยชูการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย การรายงานผล การรักษา และการป้องกันควบคุมโรคควบคู่ไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้จึงได้ส่งแบบตัวอย่างนวัตกรรมชุดตรวจเร็วสำหรับไข้เลือดออก (NS1) และกับดักไข่ยุงลายเพิ่มเติมให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 13 เขตสุขภาพ เพื่อนำไปขยายการใช้ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด มีเป้าหมายในการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ด้วยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจะพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน”
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อมูลว่าโรคไข้เลือดออก มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา โดย 70% ของกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกอยู่ในทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทย ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดทั้งปี พบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน จากการคาดการณ์สถานการณ์ไข้เลือดออกด้วยวิธีอนุกรมเวลา พบว่าปี 2565 จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปี 2564 มีการระบาดค่อนข้างน้อย และลักษณะการระบาดของไข้เลือดออกจะเป็นการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ สำหรับนวัตกรรมการตรวจหาเชื้อโรคไข้เลือดออกชนิดตรวจเร็ว เรียกว่า NS1 ทำงานคล้ายชุดตรวจ ATK ที่ใช้สำหรับตรวจโควิด 19 เพื่อเป็นการค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็วและควบคุมการระบาดได้อย่างทันท่วงที ส่วนอีกนวัตกรรมหนึ่งที่เป็นวิถีที่ประชาชนจะนำไปใช้ได้ คือ กับดักไข่ยุงลาย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ที่บ้าน ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นของยุงลายบริเวณบ้านตนเอง”
ดร.โยชิฮิโระ ฮาเซเบะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาโอ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “คาโอมีความมุ่งมั่นในการช่วยชีวิตและปกป้องผู้คน (Save Life, Protect People) โดยให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ ระบบนิเวศวิทยา การทำให้ผู้คนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีถูกสุขอนามัย และเรื่องชีวิตของผู้คนหรือการดำเนินชีวิตไปอย่างปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อ ด้วยแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียน คาโอจึงได้นำเสนอนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับทาป้องกันยุงที่มีคุณภาพ ในการปกป้องชีวิตผู้คนให้ปลอดภัย (Save Future Lives) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกให้ห่างไกลโรคภัยตามวิถี “Kirei—Making Life Beautiful”
นายปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไข้เลือดออกเป็นโรคที่สร้างความสูญเสียทั้งด้านของทรัพยากรการแพทย์ เศรษฐกิจ และคร่าชีวิตผู้คนมากมาย จึงถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ทาเคดาตระหนักถึงปัญหาของโรคไข้เลือดออก และไม่อยากให้คนไทยต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ เรามีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก ภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero ที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่ายจากองค์กรด้านสาธารณสุขจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยสนับสนุนการทำงานในหลากหลายมิติเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เติมเต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงภัยของไข้เลือดออก อันจะนำไปสู่การป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น