มธ. เปิดตัว e-learning platform TU Next และจัดเสวนาทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ.ร่วมกับ Jobbkk.com และ ARIP

กรุงเทพฯ 29 มีนาคม 2565 -  สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทจัดหางาน Jobbkk.com และบมจ.เออาร์ไอพี จัดงานเสวนา ผ่าน ZOOM ในหัวข้อ The Future Skillset of 2022 and Beyond เสวนาทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ. และระบบเรียนรู้ออนไลน์ TU NEXT: www.tunext.com เพื่อให้ผู้บริหารและคนทำงานที่มีไฟในการพัฒนาตัวเอง รู้ถึงทิศทางและแนวทางการปรับตัวเพื่อตลาดแรงงานในอนาคต 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ  อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวเปิดงานเสวนา The Future Skillset of 2022 and Beyond ว่า ตลาดแรงงานโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า งาน 85 ล้านตำแหน่งจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง ก่อให้เกิดปัญหาแรงงานในวงกว้าง คนจำนวนมากจะไม่มีงานทำ และงานจำนวนมากจะไม่มีคนทำ เนื่องจากขาดทักษะที่ต้องการ ทักษะที่มีในปัจจุบันอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มธ. จึงได้พัฒนา TU NEXT e-learning platform ระบบเรียนออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อให้คนรักการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือคนรุ่นใหม่ได้เข้าอบรมในหลักสูตรเพื่อ Upskill & Reskill  ในทักษะที่จำเป็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันเป็นการสร้างเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการบูรณาการ ส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านระบบเรียนรู้ออนไลน์ได้หลากหลาย โดยอยู่ภายใต้กรอบแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

นายทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้ง Jobbkk.com กล่าวในหัวข้อเสวนา “การปรับตัวให้พร้อม เพื่อตลาดแรงงานในอนาคต” ว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption), เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก, อิทธิพลของโซเชียลมีเดียและบิ๊กดาต้า ทำให้บุคลากร รวมถึงองค์กรต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด พร้อมรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยนายทัศไนยเน้นย้ำว่าคนทำงานรุ่นใหม่ต้องมี Meta Skill อันครอบคลุมถึงการสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset มีความพร้อมที่จะเติบโต กระตือรือร้น พร้อมจะพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ (Lifelong Learning) อยู่เสมอ พร้อมปรับตัวกับเทรนด์เกิดใหม่ในตลาดแรงงาน 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ การเติบโตของงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล, ความสำคัญของ Soft Skills ที่เทียบเท่ากับ Hard Skills, ความสำคัญของงานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า และการตระหนักว่าไม่มีทักษะใดที่จะเป็นที่ต้องการตลอดไป ดังนั้นลูกจ้าง และนายจ้างจึงจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

นายบุญเลิศ นราไท  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เออาร์ไอพี แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะบริษัทสื่อไอทีและธุรกิจชั้นนำของประเทศในหัวข้อเสวนา “Upskill & Reskill เมื่อความรู้มีวันหมดอายุ เพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ลูกจ้าง นายจ้าง ต้องไม่หยุดหาความรู้” ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G/6G จะทำให้เกิด Zero Latency หรือการไร้ความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูล ส่งผลให้นวัตกรรมแห่งอนาคตที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น รถยนต์อัตโนมัติ, ระบบสายพานผลิตอัตโนมัติ หรือการขนส่งโดยใช้โดรน ทำให้งานหลาย ๆ ตำแหน่งอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะงานที่เป็นกิจวัตร เมื่อความรู้ที่ลูกจ้าง และนายจ้างมีในปัจจุบันกำลังจะหมดอายุ การ Reskill & Upskill จึงจำเป็น ในฐานะนายจ้าง นายจ้างจะต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับพนักงานเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ในฐานะลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องตระหนักถึงทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต พัฒนาตนเองให้มีทักษะดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน 

ทักษะที่จะจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ได้แก่ ความสามารถในการจัดการปัญหาบนฐานการคิด (thinking-based solution), ความฉลาดรู้ทางสารสนเทศ (information literacy), ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (digital literacy), ความสามารถในการมีอิทธิพลต่อความคิด (influencing and leading to goals) เป็นต้น 

อ.ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ เน้นย้ำว่า ด้วยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนา Reskill & Upskill ทรัพยากรบุคคลของประเทศ จึงได้พัฒนา TU NEXT e-learning แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Learn Anywhere Anytime) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่ตนเองสนใจได้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เรียนคนอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย (Class Networking) มีระบบวัดผลที่มีประสิทธิภาพ และผู้เรียนสามารถขอดาวน์โหลดประกาศนียบัตรในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Certificate) ได้ เมื่อเรียนจบและสอบผ่านตามเงื่อนไข รองรับทุกอุปกรณ์ (Easy for all devices) เพื่อประสบการณ์การเรียนรู้ที่สะดวกและมีประสิทธิภาพที่สุด ปัจจุบันนี้แพลตฟอร์ม TU NEXT มีหลักสูตรให้ผู้เรียนเลือกเรียนมากมายที่ได้รับการออกแบบหรือรับรองโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

อ.ดร.สุรพิชย์ ยังกล่าวเสริมว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีโครงการเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ที่มุ่งเน้นการแบ่งปันประสบการณ์ สร้างเครือข่าย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ 

ความคิดเห็น