วันที่ 29 กันยายนของทุกปี ตรงกับวันหัวใจโลก(World Heart Day) โดยสมาพันธ์นานาชาติ เล็งเห็นความสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ จึงกำหนดวันนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ เนื่องจากสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอับดับต้นๆ ของคนไทยและคนทั่วโลก
นต.นพ.ชยุต ชีวะพฤกษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หัวใจ รพ. พญาไท นวมินทร์ เปิดเผยข้อมูลว่า ในยุค New normal หรือวิถีชีวิตปกติใหม่ โรคที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือโรคในกลุ่ม NCDs (Noncommunicable diseases) คือโรคไม่ติดต่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคหัวใจที่เราพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณะสุขพบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 430,000 คนต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี นั่นหมายความว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ประมาณ 6,902 ล้านยาทต่อปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี. สำหรับโรคหัวใจมีหลายประเภท เช่น หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจตีบตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ และโรคหัวใจจากโรคทางกายอื่นๆ ซึ่งโรคหัวใจสามารถแสดงอาการได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บหน้าอก ใจสั่น ใจเต้นแรง หน้ามืดจะเป็นลม ขาบวมท้องบวม ทำงานแล้วเหนื่อยมากขึ้น หรือบางครั้งก็ไม่มีอาการเลย จนกว่าจะมีอาการมากแล้ว
ดังนั้น เราจึงควรมีการตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี, ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี รวมถึงคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ, คนที่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง หรือมีโรคอ้วน, มีความเครียด, สูบบุหรี่, ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ส่วนข้อแนะนำในการดูแลตัวเอง คือ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3วันต่อสัปดาห์ , ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยเน้นอาหารที่มีเส้นใยสูงและ low fat, พักผ่อนให้เพียงพอ คือ 8 ชม.ต่อวัน , ลดความอ้วน หากมีโรคประจำตัว ให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องและติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ, งดสูบบุหรี่, งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงความเครียด เพียงเท่านี้ ท่านก็จะมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงสมบูรณ์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น