“WHO จับมือ นักวิชาการไทย เสนอมาตรการลดเค็ม ลดโรค ลดตาย ในภาวะวิกฤตโควิด 19”


เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานนโยบายพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (IHPP) ได้ร่วมเสวนาเรื่อง “เสนอมาตรการลดเค็ม ลดโรค ลดตาย ในภาวะวิกฤตโควิด 19” เสนอให้รัฐจัดให้มีฉลากคำเตือนหน้าซองบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อมุ่งให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ไม่เค็ม มีปริมาณโซเดียมต่ำ โดย ผศ.ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนต้องกักตัว มีหลายคนกังวลใจว่าประชาชนไทยมีอาจต้องบริโภคอาหารที่เค็มที่นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น นำมาสู่การเสวนาครั้งนี้

Dr. Renu Garg ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทยกล่าวถึงสถานการณ์โลกเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อและการบริโภคโซเดียมว่า การบริโภคโซเดียมสูงส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูงและเกิดภาวะหัวใจวาย นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้เกิดโรคไตและมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมมากเป็น 2 เท่า เกินกว่าปริมาณโซเดียมที่ WHO แนะนำว่าไม่ควรบริโภคเกินวันละ 5 กรัม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยหนุ่มสาว ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีพฤติกรรมบริโภคอาหารรสเค็ม  จากข้อมูลอุบัติการณ์เกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในกลุ่มคนอายุน้อย และ 3 ใน 4 ของประชากรเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การลดบริโภคโซเดียมนอกจากจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งทาง WHO ได้แนะนำมาตรการควบคุมการบริโภคโซเดียม อาทิ การห้ามโฆษณา การมีฉลากอาหารที่ชัดเจน การเก็บภาษีอาหารสำเร็จรูป การให้ความรู้แก่ประชาชน และการเฝ้าระวังติดตาม ซึ่งจะต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กัน ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประชาชนมีการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนม รวมไปถึงอาหารแปรรูปกันมากขึ้น นอกจากนี้ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับการมีโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นโรคประจำตัว ดังนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการควบคุมโรคไม่ติดต่อจึงเป็นปัญหาที่ควรหาทางแก้ไขในขณะนี้

คุณศศิภาตา ผาตีบ นักวิชาการจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคไตเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ที่มีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคเค็มมากเกินไป จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยโรคไต เลือกบริโภคอาหารได้ยากขึ้นหรืออาจเลือกบริโภคไม่ได้เลยจึงต้องบริโภคอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน ซึ่งพบว่ามีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสถานที่ล้างไตหลายแห่งปิดตัวเนื่องจากมีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ทำให้สำหรับผู้ป่วยโรคไตมีอาการหนักขึ้น ทางสมาคมฯ ได้พยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องผ่านเพจของสมาคมฯ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการบริโภคอาหารเค็ม โซเดียมสูง เพราะผู้ป่วยไปฟอกเลือดที่หน่วยบริการได้ลำบากในช่วงนี้

ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัญหาการบริโภคโซเดียมที่สูง เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำทุกทางและเป็นประเด็นที่น่ากังวลในกลุ่มคนอายุน้อยและกลุ่มชุมชนเมือง ทั้งนี้มาตรการในการควบคุมการบริโภคโซเดียมจะต้องพิจารณาความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลสูง ซึ่งมี 4  มาตรการคือ (1) สนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหารที่มีโซเดียมสูงปรับสูตรอาหาร (2) การควบคุมปริมาณโซเดียมในสถานประกอบการที่ให้บริการอาหาร เช่น โรงเรียน ซึ่งหากเด็กติดเค็มจะส่งผลกระทบในระยะยาว (3) การรณรงค์สาธารณะอย่างมีเป้าหมาย และ (4) การติดฉลากอาหารหน้าบรรจุภัณฑ์ (Front-of-package labelling) ซึ่งในประเทศไทยมีการออกฉลากหน้าบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ Healthier Choice และฉลาก monochrome GDA  แต่ดูเหมือนว่าฉลากที่ใช้อยู่ผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคไม่ชัดเจน จึงเสนอใช้มีการพัฒนารูปแบบฉลากอาหารเพิ่มเติม เช่น ฉลาก GDA ไฟจราจร และ ฉลากคำเตือน (Warning labelling) ที่มีหลักฐานวิชาการว่าสามารถช่วยในการตัดสินใจเลือกชื้อของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้มาตรการเรื่องฉลากอาหารต้องทำคู่กับกลุ่มมาตรการทั้ง 3 อย่างข้างต้นจึงจะเกิดประสิทธิผลสูงในการลดบริโภคเค็ม

Dr. Renu Garg เห็นด้วยกับดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการบริโภคโซเดียมด้วยฉลากคำเตือน (Front-of-package warning labelling) โดยต้องทำควบคู่กับกลุ่มมาตรการต่าง ๆ จะทำให้ผู้บริโภคและกลุ่มเด็กตัดสินใจเลือกบริโภคได้ดีขึ้น และในวิกฤตโรคระบาดที่คนต้องกักตัวอยู่บ้านและบริโภคอาหารบรรจุภัณฑ์จำนวนมากการมีภาคคำเตือนบนหน้าซองจะมีส่วนช่วยลดการบริโภคเกลือ โซเดียมของประชาชนไทย จึงอยากเรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการออกมาตรการต่างๆที่มีประสิทธิผลสูงเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนไทย ลดเค็ม ลดโรค ลดตายจากโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และ โรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วงวิกฤตโควิด-19 

https://1drv.ms/v/s!ApHXnZSmZzH_qEDTkkBhYdBtglDb?e=1Z5iKh

ความคิดเห็น