หลักสูตร “X10 Hybrid” เครือรพ.พญาไท-เปาโล ยกระดับธุรกิจเฮลท์แคร์

เป็นเวลา 3 ปีนับตั้งแต่พ.ศ.2561 เครือรพ.พญาไท-เปาโล บุกเบิกการเรียนออนไลน์ในรูปแบบ Hybrid Learning Platform ผ่านแอพพลิเคชั่น CILA มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วยนวัตกรรมการเรียนที่ทันสมัยตามความสนใจทุกที่ทุกเวลา หรือ Digital Learning Transformation จนประสบความสำเร็จสอดรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล โดยเปิดหลักสูตรแรก คือ 4D เน้นเรื่องDesign Thinking และปี 2563 ต่อยอดความสำเร็จภายใต้ความร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก้าวสู่“หลักสูตร X10 Hybrid Learning” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร เพิ่มขีคความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนธุรกิจเฮลท์แคร์เติบโตระดับโลก 

อัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าวว่า เครือรพ.พญาไท-เปาโล มีนโยบายการขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน โดยเสริมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ผลักดันให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยพัฒนานวัตกรรมการเรียนออนไลน์ในรูปแบบ Hybrid Learning Platform พร้อมกับแอพพลิเคชั่น CILA (Center of Interactive Learning Academy) ศูนย์กลางการจัดการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็น Know-how ที่มีคุณค่า บุคลากรสามารถถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ เป็นการต่อยอดความรู้ในมิติใหม่ที่บุคลากรทุกระดับสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่กว้างไกล ทันสมัย ทันเหตุการณ์ เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และลงมือทำ พร้อมรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรการฝึกอบรมด้านคลินิกและการพัฒนาทักษะวิชาชีพกว่า 20 หลักสูตร พร้อมฟังก์ชั่นห้องสมุดออนไลน์ กิจกรรมการตลาดและข่าวสารองค์กร เพื่อให้พนักงานก้าวทันสถานการณ์ความเป็นไปของทั้งภายในและภายนอกองค์กร  

      ปี 2563 ตอกย้ำเป้าหมายขององค์กรแห่งการเรียนรู้ ด้วยการเปิดตัว X10 Hybrid Learning หลักสูตรธุรกิจที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภายในโรงพยาบาล ให้พร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง  กระทบต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีการใช้ชีวิตของทุกคน โดยอาศัยหลักการ New S-curve เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ทั้งในรูปแบบของสินค้าและบริการ นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในยุค Digital Disruption สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและขับเคลื่อนธุรกิจเฮลท์แคร์ไทยให้เติบโตในระดับโลก

     หลังผ่านการเรียนรู้รูปแบบ Hybrid ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบุคลากรที่เห็นได้ชัด คือ เกิดการเรียนรู้ในวงกว้าง ทำให้มีภาษาองค์กรที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจสิ่งที่แต่ละคนคิดหรือเครื่องมือที่นำมาใช้ร่วมกันมากขึ้น ส่งผลต่อการทำงานหน้างาน โดยเมื่อเกิดความคิดแล้วมีสภาพแวดล้อมการทำงานหรือเพื่อนร่วมงานที่คิดในระบบเดียวกัน ใช้ภาษาองค์กรเดียวกัน สิ่งที่เห็นจึงเป็นการได้ผลลัพธ์ของการคิดร่วมกันและนำสู่การปฏิบัติได้เร็วมากขึ้น ซึ่งน่าแปลกใจมากที่หลายๆเรื่อง บุคลากรสามารถคิดแก้ปัญหาและขับเคลื่อน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิบัติได้ทันที “Hybrid Learning และแอพพลิเคชั่น CILA ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะความรู้กระจายออกไปถึงบุคคลจำนวนมากในองค์กรได้อย่างพร้อมกัน ทำให้เกิดทีมเวิร์คในการทำงาน เกิดภาษาใหม่ของการทำงานร่วมกัน ตลอด 3 ปีที่เริ่มต้นขึ้น มีพนักงานสนใจเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆรวมกว่า 3,000 คน นำมาซึ่งผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ การบริการ และความคิดใหม่ๆในการบริหารจัดการธุรกิจและการแก้ปัญหาให้กับองค์กรและลูกค้าผู้ใช้บริการ ถือเป็นผลสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่บุคลากรสนใจใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเข้าถึงกระบวนการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรอย่างแท้จริง"อัฐ กล่าว 

การพัฒนาบุคลากรต่อไปในอนาคต อัฐ มองว่า จากที่เครือรพ.พญาไท-เปาโลได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ CILA ก็จะมีการใช้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมความรู้ที่เกิดขึ้นจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.ความรู้จากภายในองค์กรและความรู้จากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ 2.บุคคลที่มีความสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีและเข้าใจบริบทของธุรกิจบริการสุขภาพเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ และ3.วิสัยทัศน์ที่เกิดจากการทำงานของผู้บริหาร ในการถ่ายทอดถึงบุคลากร แพลตฟอร์มนี้จึงจะรวม 3 องค์ประกอบความรู้ที่จะใช้ในการพัฒนาบุคลากรผ่านแพลตฟอร์มนี้ ความพิเศษของหลักสูตร X10 รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปัจจุบันเป็นการเรียนแบบออนไลน์และออฟไลน์ แต่แท้จริงการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกชั่วขณะได้ หลักสูตรนี้จึงเป็น Lifeline Learning ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงในห้องเรียนหรือผ่านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนเกิดแนวคิดในการพัฒนาต่อยอด เพื่อความรู้ทางด้านกลยุทธ์ ไม่เฉพาะในโรงพยาบาล แต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไข้และประชาชนไทย ดังนั้น การพัฒนาทำให้คนมีศักยภาพในการทำงาน ในการตรวจคนไข้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องของดิจิทัลอีกต่อไป แต่ทำให้คนไข้ เจ้าหน้าที่รพ.มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิถีทาง กลยุทธ์ วิถีชีวิตใหม่ กิจกรรมใหม่ๆที่ทำให้การเรียนรู้เป็นแบบ Lifeline Learning จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประเทศไทยดีขึ้น 

    สำหรับความร่วมมือกับเครือรพ.พญาไท-เปาโลสอดรับกับโมเดล CBS Lifeline Learning Approach โดยหลักสูตร X10 Hybrid Learning คณะบัญชีฯ จุฬาฯ เตรียมคณาจารย์ชั้นนำของสถาบันผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางธุรกิจเฉพาะด้านร่วมเป็นวิทยากร อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดบริการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ Start-up และวิทยากรผู้มีชื่อเสียงจากนอกคณะฯ เช่น ผู้บริหารจาก Rabbit Digital Group Digital Agency ชั้นนำของประเทศ กูรูด้าน Digital Transformation ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data-driven Marketing และผู้เชี่ยวชาญด้าน Tech Start-up เป็นต้น จุดเด่นของหลักสูตร X10 Hybrid Learning นอกจากการสอนทฤษฎีทางธุรกิจแล้ว ยังมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นวิธีคิดรูปแบบใหม่ให้กับบุคลากรในเครือรพ.พญาไท-เปาโล ได้มีทักษะในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น