อพท.เผยยอดท่องเที่ยวกระทบหลังโควิด-ระบาด เตรียมแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

อพท. ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รับกระทบหนัก จากภัยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ของที่ระลึก  เดินหน้าตามแผน นโยบายกระทรวงท่องเที่ยวฯ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวหลัง โควิด – 19 สถานการณ์คลี่คลาย เร่งบูรณาการความร่วมมือรัฐ เอกชน พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเครือข่าย ดันเข้าเกณฑ์มาตรฐาน TOP 100 ขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษ เข้ารอบเมืองสร้างสรรค์ ขององค์การยูเนสโก นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  กล่าวว่า  ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำ ที่ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว  ในด้านต่างๆ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19คลี่คลาย ไปในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยมีแผนงานที่จะเข้าไปส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ดึงดูดการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง ทั้งในด้าน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100  และการขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) 
“ ด้วยสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ  ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่     และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังบริษัทนำเที่ยวโรงแรมที่พัก     ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ดังนั้น.ในแผนปี 2563 อพท. ได้เตรียมแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และพื้นที่พิเศษ เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น “
     ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดหาแนวทางช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว  อพท.จึงได้มีนโยบาย ได้เตรียมแผนการดำเนินงานภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เริ่มดีขึ้น โดยจะปรับแผนการทำงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ  ส่วนการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชน โดยการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 จัดเป็นกิจกรรม อบรมนักสื่อความหมายท้องถิ่นให้แก่ชุมชน โดยใช้มัคคุเทศก์อาชีพเป็นวิทยากรให้ความรู้  เพื่อเป็นการยกระดับเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์อาชีพก็จะมีรายได้และมีงานทำจากความชำนาญที่มีอยู่ และจะร่วมกับบริษัทนำเที่ยวพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อจะได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
   ส่วนแผนการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ  อพท.จะร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และ สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวภูมิภาคแห่งประเทศไทย เตรียมจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 
     กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการช่วยเหลือมัคคุเทศก์ และบริษัทนำเที่ยวไปพร้อมกัน   เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว ที่จะได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19  โดยในการปรับแผนการดำเนินงานครั้งนี้ อพท. จะใช้เงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรประจำปีงบประมาณ 2563 ตามเดิม แต่ปรับเปลี่ยนเพียงกิจกรรมที่จะดำเนินการในปีนี้ ให้สอดรับกับสถานการณ์ คงไว้ซึ่งเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของ อพท. ในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 
        ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวถึง การบริหารจัดการภายในองค์กรเพื่อลดการแพร่ระบาดของ              เชื้อไวรัสโควิด-19  ว่า ได้ดำเนินการตามประกาศของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ในเรื่องของการให้แนวทาง  แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการโดยล่าสุดได้ประกาศให้เจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้ปฏิบัติงานของ อพท. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค Work from home ผ่านระบบ อี-ออฟฟิศ  และโซเชียล  ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ถึง วันที่ 7 เมษายน 2563   แต่หากมีภารกิจที่จำเป็นก็สามารถเข้ามาปฏิบัติงานที่ออฟฟิศได้ เช่น รับและส่งเอกสารที่ไม่สามารถนำเข้าระบบได้ หรือ กรณีการประชุมจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น 
    สำหรับ อี-ออฟฟิศ คือ ระบบปฏิบัติการที่ อพท.พัฒนาและใช้เป็นระบบหลักในการทำงานภายในองค์กรมาเกือบ 10 ปี เป็นระบบที่สามารถลงนามบันทึกข้อความ หรือ จัดงานงานด้านเอกสาร ได้เกือบครอบคลุมทั้งกระบวนการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้ขอเข้ามาศึกษาดูงานระบบดังกล่าว      ที่ อพท. ปีละหลายๆ หน่วยงาน  เพื่อเป็นต้นแบบไปปรับใช้ในองค์กรของตัวเอง

ความคิดเห็น