ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่า “ตามที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 ได้กำหนดเป้าหมาย การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2564 โดยเร่งขยายผลแนวคิดการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมพัฒนาการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สอดคล้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี "กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน" และแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสนับสนุนการผลิตภาคการเกษตรไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อยกระดับผลิตผลทางการเกษตรและคุณภาพของเกษตรกรให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและภาคีเครือข่าย คัดเลือกพื้นที่ใน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านพุบอน/หมู่บ้านย่านซื่อ/หมู่บ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่จัดงานโครงการบูรณาการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อสนับสนุนโยบาย “เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน” และ Kick off การจัดงานวันดินโลก ปี พ.ศ. 2562 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ World Soil Day 2019 'Stop Soil Erosion, Save our Future' ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีปัญหาการจัดการระหว่างสัตว์ป่าที่เข้ามาในพื้นที่ของชุมชน และเป็นพื้นที่รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยการขับเคลื่อนด้วยศาสตร์พระราชา จะสามารถบริหารจัดการน้ำสู่การปรับสมดุลทางธรรมชาติ รวมถึงการแก้ปัญหาการบุกรุกของสัตว์ป่าได้
ดังนั้น การเปิดแปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ที่บ้านพุบอน ในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบหนึ่งให้ชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญและร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ให้ก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ด้าน นายไตรภพ โคตรวงษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครินทร์ และประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา ในรูปแบบ “เที่ยวทำดีตามรอยพ่อ” ว่า “ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบตามแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวชุมชน ปี 2559 - 2563 โดยมีเป้าหมายผลักดันการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนให้เพิ่มขึ้น 4 - 8 % ให้เกิดการกระจายรายได้ในท้องถิ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism Development) ระดับโลก กลไกการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) และการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community based tourism) เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยยึดชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา (Community-based development) ให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงสัมพันธ์เหมาะสมกับภูมิประเทศและสังคมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้จัดการอบรมหลักสูตร “การท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา” มาแล้ว 3 รุ่น โดยนำร่องจากการพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำบางปะกง
ต่อมาได้รวมตัวกันเป็น กลุ่มการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา และได้ร่วมมือกันพัฒนาเป็นรูปแบบ “เอามื้อถือแรงสามัคคี เที่ยวทำดีตามรอยพ่อ” มีพื้นที่เป้าหมาย 9 แปลงกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเล็งเห็นว่า พื้นที่ของ นายวิโรจน์ สูงยิ่ง บ้านพุบอน ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา จึงจัดทำเป็น กุยบุรีโมเดล ให้นักท่องเที่ยวและจิตอาสาได้เรียนรู้การเกษตรยั่งยืนตามรอยศาสตร์พระราชา พร้อมได้สัมผัสกับการท่องเที่ยว กุยบุรี ผืนป่าของพ่อ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นำผืนป่าที่นายทุนคืนให้ทางราชการ มาฟื้นฟูให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า จนกลายเป็น "โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ยังความชุ่มชื้นคืนธรรมชาติและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลากหลาย จนทำให้ผืนป่ากุยบุรี เป็นพื้นที่จัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่ดีที่สุดในเอเชีย
นอกจากนั้นยังได้เข้าชมและศึกษาเส้นทางธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อ ชมไม้จันทน์หอม ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อายุหลายร้อยปี ซึ่งพบที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และตามรอยไม้จันทน์หอมที่ได้รับการนำไปสร้างเป็น พระบรมโกศ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ รวมทั้งพระบรมโกศ ของพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ และชมธรรมชาติอันสวยงามของอุโมงค์ต้นจามจุรี บนทุ่งหญ้า 1,500 ไร่ ชมพระอาทิตย์ตกดิน และทิวทัศน์อันงดงามบริเวณอ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และสัมผัสกับวิถีชาวบ้านชุมชนกุยบุรีทั้งนี้กุยบุรีโมเดลจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชาในพื้นที่ต่อๆไปในอนาคต”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น