พม. จับมือภาคีเครือข่ายติดตามแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2561 - 2565

วันนี้ (29 เม.ย.62 )เวลา 13.30 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ      ความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ครั้งที่ 1/2562 เพื่อรับทราบความก้าวหน้าของแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2561 - 2565 สำหรับโครงการในปีงบประมาณ 2561 - 2562 และผลการดำเนินงานโครงการสำคัญ  ผลการดำเนินการบูรณาการจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการพิจารณาทบทวนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สะพานขาว กรุงเทพฯ
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งคนไร้ที่พึ่งที่เป็นผู้ประสบปัญหาทางสังคม ทั้งนี้   การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557  ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้คนไร้ที่พึ่งสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขและพึ่งพาตนเองได้  ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต  ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป  สำหรับการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ครั้งที่ 1/2562  ในวันนี้  เป็นการติดตามความก้าวหน้าของโครงการสำคัญในปีงบประมาณ  2561 - 2562 ตามแผนการขับเคลื่อนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2561 - 2565 และ  การบูรณาการจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งในเขตกรุงเทพมหานครตามนโยบายรัฐบาล โดยร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล   ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 10 เมษายน 2562 ซึ่งพบว่า มีคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 407 ราย ซึ่งผ่านการคัดกรองโดยทีมสหวิชาชีพ กระทรวงกลาโหม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ และทีมนักสังคมสงเคราะห์ (พส.) เพื่อให้เกิด การบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ  และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อคนไร้ที่พึ่งกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาความร่วมมือกับการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
กระทรวงศึกษา เพื่อให้คนไร้ที่พึ่งสามารถอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้กับ  คนไร้ที่พึ่ง และการรับเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป  นอกจากนี้  มีการวางแนวทางการส่งคนไร้ที่พึ่งไปสู่ครอบครัวอุปถัมภ์อย่างยั่งยืน ซึ่งครอบครัวอุปถัมภ์จะต้องได้รับอนุญาต และมีความประสงค์จะอุปการะ และคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะสั้น เป็นครอบครัวอุปถัมภ์ไม่เกิน 1 ปี  และ 2) ระยะยาว เป็นครอบครัวอุปถัมภ์เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี  ซึ่งอาจให้ขยายเวลาได้สำหรับกรณีจำเป็น  โดยคำแนะนำของคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ซึ่งจะมีเงินช่วยค่าเลี้ยงดู รายละ  2,000  บาทต่อเดือน
 พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้มีมติเห็นชอบวาระที่สำคัญต่างๆ  ได้แก่ การพิจารณาทบทวนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อาทิ การยกเลิกและทบทวนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่เกี่ยวกับคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ ซึ่งเป็นกลไกที่คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 “กระทรวง พม. พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งตามแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2561 - 2565 ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งประชาชน  เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของระบบคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นคนไร้ที่พึ่งให้ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อไป” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย

ความคิดเห็น