สสว.เปิดงานรวมพลังสานฝันสู่คลัสเตอร์ เร่งเครื่องโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562

    สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัวโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ประจำปี 2562 ผนึกกำลังผู้ประกอบการทำธุรกิจแบบเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน พร้อมจัดเสวนา “เปิดใจแล้วไปด้วยกัน รวมพลังสานฝันสู่คลัสเตอร์ : Strength in Clusters ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ซี อาเซียน ออดิทอเรียม (C Asean) ชั้น 10 อาคารไซเบอร์เวิลด์ รัชดาฯ เมื่อวันพุธที่ 27 ก.พ. 2562
    ทั้งนี้ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มผู้ประกอบ SME ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หลังการดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ที่เป็นการรวมกลุ่มแบบคลัสเตอร์ ซึ่งในปี 2560-2561 พบว่า การพัฒนาผู้ประกอบการแบบคลัสเตอร์ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด
 โดยในปี 2560 กิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ จำนวนรวม 30 คลัสเตอร์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 190 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ต่อเนื่อง และได้เพิ่มคลัสเตอร์ใหม่ที่มีความน่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวนรวม 30 คลัสเตอร์ สามารถสร้างเม็ดเงินรวมมูลค่าได้กว่า 600 ล้านบาท
จากความสำเร็จที่ผ่านมา สสว. จึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 ที่มุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้ประกอบการจากฐานล่างถึงระดับบน ให้เป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง มีการช่วยเหลือพึ่งพากันภายในกลุ่มคลัสเตอร์ของตนเอง
สสว. ยังได้คัดเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจ เพื่อพัฒนาในรูปแบบของคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 จำนวน 30 คลัสเตอร์ ซึ่งมีกลุ่มคลัสเตอร์ต่อเนื่อง ได้แก่ สมุนไพร มวยไทย ดิจิทัลคอนเทนท์ และกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ Sport Economy เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สัปปะรด กระเทียม Creative Entertainment และนวัตกรรมธุรกิจอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึง
คลัสเตอร์ปลากัด ที่มีการเติบโตก้าวกระโดด และประสบความสำเร็จในการผลักดันปลากัดให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่า จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท   
“ในกรณีที่เป็นคลัสเตอร์เก่า สสว. จะต้องดูผลการบริหารคลัสเตอร์แต่ละกลุ่มว่ามีการพัฒนามากน้อยเพียงใด และจะต้องผลักดันเพื่อให้คลัสเตอร์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนกรณีคลัสเตอร์ใหม่ มีแผนจะส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาคลัสเตอร์ในระดับจังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยมีหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ส่วน สสว. จะเป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งเสริมแบบคลัสเตอร์จะมีความต่อเนื่อง ซึ่งโดยหลักการควรดำเนินการต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-10 ปี” นายสุวรรณชัยกล่าว
  นอกจากนี้ สสว. ยังเตรียมการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในคลัสเตอร์ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตและบริหารจัดการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงกระบวนการให้เกิดผลผลิตมีคุณภาพ และการพัฒนาด้านมาตรฐาน การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก จัดทำมาตรฐานการผลิต มาตรฐานการบริการหรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัยมาประยุกต์ใช้ หรือการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
สสว. ยังมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของ Service Provider และผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent: CDA) โดยการให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการร่วมมือและส่งเสริมแนวคิดในการพัฒนาคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานการเกษตรของภาครัฐ หรือไปรษณีย์ไทย ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการเสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของคลัสเตอร์
สำหรับการติดตามผล สสว. มีการวางระบบจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มเข้าโครงการด้วยแอพลิเคชัน SME Connext และในระหว่างดำเนินงาน จะมีหน่วยติดตามประเมินผลคอยติดตามข้อมูลเป็นระยะ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ (เชิงปริมาณ) และสังคม (เชิงคุณภาพ) ทั้งนี้ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) จะเป็นการเร่งพัฒนายกระดับ SME ไทย ทุกระดับการเติบโตให้มีศักยภาพ สร้างความสามารถในการทำธุรกิจระดับสากลมากขึ้น และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทย มุ่งให้เกิดการขยายสัดส่วนมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

ความคิดเห็น