พม. จัดงานวันสตรีสากลประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย”

     ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 เวลา 13.30 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
      พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2561 จำนวน 19 สาขา 47 รางวัล พร้อมกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” 
     โดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงาน 
     นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้รับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2561 จากคณะผู้แทนสมัชชาสตรีแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสตรีไทยก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีสู่สากล
     โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ให้การต้อนรับ
     พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสตรี ให้เกียรติและเคารพในสิทธิ อันชอบธรรมในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคมไทย

     สำหรับประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตระหนักดีว่า พลังของสตรี ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ 

   เนื่องจากมีจำนวนสตรีไทยถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 33.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยที่อยู่ในชนบทประมาณ 16.9 ล้านคน มีบทบาทสำคัญในด้านการเกษตร หัตถกรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังมีสตรีอีกจำนวนมากที่มีบทบาทสำคัญต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ
     พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในบทบาทของสตรีไทยและความเสมอภาคระหว่างเพศมาตลอด โดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เน้นการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
    ขณะเดียวกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ก็ได้เน้นการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาศักยภาพ ทุนมนุษย์ที่คำนึงสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค 
    ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี ก็คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มบทบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่ม และทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้สตรีมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
     “สตรีทุกท่านต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีพ มีการคิดอย่างเป็นระบบ และมีวิจารณญาณ มีความมั่นใจและความเป็นผู้นำ ก้าวทันเทคโนโลยี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งรักษาภาพลักษณ์อันงดงามของสตรีไทย พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป” พลเอก ฉัตรชัย กล่าวในตอนท้าย

ความคิดเห็น